ป้องกันการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) ด้วย Probiotics
การแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเอนไซม์ แลคเตส (lactase) หรือ เบต้า-กาแลคโตสิเดส (beta-galactosidase) ออกมาย่อยน้ำตาลแลคโตสได้อย่างเพียงพอ ซึ่งน้ำตาลแลคโตสเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบมากในน้ำนม ดังนั้นเมื่อน้ำตาลแลคโตสที่ไม่ถูกย่อยและไม่ดูดซึมที่ลำไส้เล็ก จะถูกย่อยโดยขบวนการหมักที่ลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆตามมา
สาเหตุของการแพ้น้ำตาลแลคโตส
1. ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส (Primary lactase Intolerance) เป็นสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ใหญ่หรือเด็กโต เกิดจากการที่ผนังลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์แลคเตสและเบต้า-กาแลคโตสิเดสได้น้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้การลดลงของเอนไซม์จะมากหรือน้อยยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ เช่น กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ
2. ภาวะขาดเอนไซม์ตั้งแต่เกิด (Congenital lactase deficiency) กลุ่มนี้พบได้น้อยและอาการเป็นตั้งแต่เด็ก เป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่ได้รับยีนส์ผิดปกติจากพ่อและแม่
3. ภาวะขาดเอนไซม์จากการเจ็บป่วย (Secondary lactose intolerance) เกิดจากผนังลำไส้เล็กถูกทำลายทำให้ผลิตเอนไซม์แลคเตสและเบต้า-กาแลคโตสิเดสได้น้อยลง เช่น การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อพยาธิโปรโตซัวในลำไส้ โรคซิลิแอก (Celiac disease) ที่เป็นการอักเสบของลำไส้ที่เกี่ยวข้องกับการแพ้กลูเตน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Crohn’s disease)
อาการของการแพ้น้ำตาลแลคโตส
ความรุนแรงของอาการเกิดขึ้นมากหรือน้อย จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาลแลคโตสที่ได้รับ และความสามารถของร่างกายที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ ซึ่งแตกต่างไปในแต่ละคน และนี่คืออาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตส
• แน่นท้อง ท้องอืด
• ปวดท้อง
• ท้องเสีย ถ่ายเหลว
• ผายลมบ่อย
• คลื่นไส้ อาเจียน
ผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการแพ้น้ำตาลแลคโตส คือ ในผู้ที่ไม่สามารถดื่มนมได้ อาจทำให้ได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดีไม่เพียงพอ เพราะนมถือเป็นแหล่งของสารอาหารที่สำคัญหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน วิตามิน และแคลเซียม ซึ่งหากร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งส่งผลให้กระดูกหักง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะในคนสูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณแคลเซียมที่ผู้ใหญ่ควรได้รับในแต่ละวันคือ 800-1000 มิลลิกรัม โดยวิตามินดีเป็นปัจจัยช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้มากขึ้น ดังนั้นหากไม่สามารถดื่มนมได้ ควรเลือกรับประทานอาหารจากแหล่งอื่นที่ให้แคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่กินได้ทั้งตัว กุ้งแห้ง เต้าหู้ ผักใบเขียวที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ขี้เหล็ก ตำลึง บัวบก ถั่วพู เป็นต้น
น้ำตาล Lactose มีอยู่ในอาหารอะไรบ้าง
แลคโตสเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 ชนิดคือ น้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลกาแลคโตส พบได้ในอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนม เช่น นมวัว นมแพะ นมข้น ไอศกรีม ครีม โยเกิร์ต เค้ก และชีส
วิธีการรักษาและป้องกันการแพ้น้ำตาลแลคโตส
• ใช้เอนไซม์แลคเตสสังเคราะห์ เอนไซม์แลคเตสมีทั้งรูปแบบเม็ดและแบบน้ำ ทานพร้อมกับเมื่อดื่มนมคำแรก ข้อดีของเอนไซม์คือ ทำให้สามารถดื่มนมได้ตามปกติ แต่ข้อเสียคือเอนไซม์มีราคาแพงและมีประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล
• นมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free milk) คือ นมที่มีการเติมเอนไซม์เข้าไป ทำให้แลคโตสถูกย่อยแล้ว หรือใช้น้ำนมที่สกัดจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมมะพร้าว ซึ่งจะไม่มีแลคโตสอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่การใช้น้ำนมจากพืชทนแทนนมวัว จะทำให้ได้โปรตีนที่มีคุณภาพต่ำกว่าและแคลเซียมน้อยกว่า
• โปรไบโอติกส์ (Probiotics) โปรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งโปรไบโอติกส์สามารถผลิตน้ำย่อยเพื่อช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ จึงทำให้มีน้ำตาลแลคโตสเหลือน้อยหรือไม่มีเลย หนึ่งในโปรไบโอติกส์ที่มีส่วนช่วยในการย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ คือ Bifidobacterium spp. เป็นโปรไบโอติกส์ที่พบได้ในโยเกิร์ตและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม การศึกษาในปี 2008 ที่ทำการทดลองกับผู้ที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส จำนวน 11 คน ทำการทดลองโดยการให้อาสาสมัครทานโยเกิร์ตควบคู่กับอาหารเสริมโปรไบโอติก Bifidobacterium longum รูปแบบแคปซูล ผลปรากฎว่า อาสาสมัครที่แพ้น้ำตาลแลคโตส มีการเพิ่มขึ้นของ เบต้า-กาแลคโตสิเดส (beta-galactosidase) ซึ่งช่วยในการย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ดีขึ้น
อ้างอิง
Helen West. Lactose Intolerance 101 — Causes, Symptoms and Treatment. [อินเทอร์เน็ต]. (2017), แหล่งที่มา: https://www.healthline.com/nutrition/lactose-intolerance-101#section2. [31 กรกฎาคม 2563]
พ.ญ. ณิชา สมหล่อ. การแพ้น้ำตาลแลคโตส และสาเหตุการแพ้. [อินเทอร์เน็ต]. แหล่งที่มา: https://cpmeiji.com/lactosefreemilk/knowledge/lactose-intolerance#:~:text=การแพ้น้ำตาลแลคโตส%20(Lactose%20intolerance)%หรือ,เกิดก๊าซในลำไส้ทำให้. [31 กรกฎาคม 2563]
De Vrese M, Stegelmann A, Richter B, Fensalau S, Laue C, Schreznmeir J. Probiotics compensation for lactase insufficiency. Am J Clin Nutr. 2001; 73: 421S-429S.
T. He, M.G. Priebe, Y. Zhong, C. Huang, H.J.M. Harmsen, G.C. Raangs, et al., Effects of yogurt and bifidobacteria supplementation on the colonic microbiota in lactose‐intolerant subjects. J Appl Microbiol. 2008 Feb;104(2):595-604.