ริดสีดวงทวาร สาเหตุ อาการ วิธีการรักษาและป้องกัน

มีคราบเลือดติดออกมากับอุจจาระ นี่แหละสัญญาณของ โรคริดสีดวงทวาร !

หลายๆคนกำลังประสบปัญหานี้อยู่ แต่ก็อายที่จะไปพบแพทย์ จึงเก็บอาการที่เป็นอยู่ไว้เป็นความลับ ไม่บอกใครรู้

ลองมาเช็คอาการกันดูอีกรอบ หากคิดว่าเข้าข่ายโรคริดสีดวงทวาร ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้ อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งต้องใช้เวลาพักฟื้นนานพอสมควร เสียทั้งเวลา เสียทั้งงาน เสียทั้งเงิน รู้แบบนี้แล้วยังจะปล่อยมันทิ้งไว้อยู่ไหม

โรคริดสีดวงทวาร คืออะไร?

โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพองเป็นหัว ซึ่งอาจมีได้หลายหัวและเป็นพร้อมกันได้หลายตำแหน่งบริเวณทวาร

ริดสีดวงทวารสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ริดสีดวงทวารชนิดภายใน

กลุ่มหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ชั้นเยื่อบุลำไส้ภายในรูทวารหนักปูดพอง ซึ่งจะต้องตรวจพบได้เมื่อใช้กล้องส่องตรวจ ความรุนแรงแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เริ่มมีหัวริดสีดวงเกิดขึ้น แต่ไม่มีก้อนเนื้อยื่นออกมา และจะมีเลือดสดๆออกมาขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
  • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ และจะหดกลับเข้าไปได้เองภายหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ
  • ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ ไอ จาม ยกของหนัก หรือออกกำลังกาย และจะไม่กลับเข้าไปเองต้องใช้นิ้วมือดันเข้าไป
  • ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาคาอยู่ข้างนอกตลอดเวลา ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ ผู้ป่วยจึงรู้สึกเจ็บปวด
2. ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก

กลุ่มหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณปากทวารหนักปูดพอง ซึ่งสามารถมองเห็นและคลำได้ เพราะผิวหนังรอบๆ ทวารจะถูกดันจนโป่งออกมา ผู้ป่วยจึงรู้สึกเจ็บปวด

สาเหตุเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่มักพบในผู้ที่มีอาการเหล่านี้

  1. ผู้ที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง
  2. ผู้ที่ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยๆ
  3. ผู้ที่ชอบนั่งถ่ายเป็นระยะเวลานานๆ
  4. ผู้ที่มีอุปนิสัยเบ่งถ่ายอย่างมาก เพื่อให้ขับอุจจาระได้อย่างรวดเร็ว
  5. อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  6. การตั้งครรภ์
  7. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน

อาการที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • มีเลือดสีแดงสดออกมาขณะถ่ายอุจจาระ หรือหลังถ่ายอุจจาระแล้วเสร็จ
  • มีก้อนเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ
  • คันหรือระคายเคืองรอบๆปากทวารหนัก
  • คลำได้ก้อนที่บริเวณทวารหนักและมักมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย
แนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวาร
  • การใช้ยาเหน็บทวาร ครีมทาทวาร และยาทาภายนอก หากใช้ครบ 1 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
  • การฉีดยาเข้าไปที่หัวริดสีดวงทวาร หรือใช้แถบยางรัดโคนหัวริดสีดวงทวาร
  • การจี้หัวริดสีดวงทวารด้วยความร้อนหรือความเย็น
  • การผ่าตัดเอาหัวริดสีดวงทวารออก
ถึงแม้ว่าการรักษาจะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น แต่ถ้ายังมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสกลับมาเป็นโรคริดสีดวงทวารได้ใหม่ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
วิธีการปฎิบัติตัวและดูแลตัวเอง เพื่อให้ห่างไกลโรคริดสีดวงทวาร
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี ผักผลไม้ และธัญพืชต่างๆ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ถ่ายอุจจาระให้เป็นประจำนิสัย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย จากเดิมที่ใช้อยู่บ่อยๆ
  • รับประทานโปรไบโอติก ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลลำไส้ เพิ่มมวลอุจจาระ ช่วยให้การขับถ่ายเป็นไปได้ง่าย และลดปัญหาในระบบทางเดินอาหารให้กับคุณได้

อ้างอิง

ริดสีดวงทวาร. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Copyright © 2024 Lish Thailand Official