
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับสามและเป็นสาเหตุการตายจากมะเร็งอันดับสี่ของโลก
องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นปีละเกือบหนึ่งล้านคน และจะเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ปีละเกือบห้าแสนคน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเลยทีเดียว
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศทางแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทย พบอัตราการตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เราจะมีวิธีรับมือและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้ทุกคน

- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้

- ทานผัก ผลไม้ให้ได้ครึ่งของอาหารแต่ละมื้อ โดยเลือกทานผัก ผลไม้หลากสี ผักและผลไม้ จะอุดมไปด้วยสารต้านมะเร็ง เนื่องจากเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด รวมทั้งมีใยอาหารซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งชนิดต่างๆ

- จำกัดการบริโภคเนื้อแดง เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อแพะ เป็นแหล่งของโปรตีนที่ดี แต่ก็เป็นอาหารประเภทไขมันสูงเช่นเดียวกัน หากรับประทานทานในปริมาณมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

- หลีกเลี่ยงอาหารที่ไหม้เกรียม อาหารที่ไหม้เกรียม มักจะมีสารไนโตรซามีน ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่างๆ แหล่งอาหารที่มักพบไนโตรซามีน ได้แก่ อาหารปิ้งย่างที่ไหมเกรียม เนื้อสัตว์ที่มีการเติมไนเตรทเข้าไป เพื่อเป็นสารกันบูด และถนอมอาหาร อาหารหมักดอง เป็นต้น

- เน้นทานอาหารที่เตรียมและเก็บรักษาอย่างถูกสุขลักษณะ อาหารที่เก็บรักษาไม่ดี อาจเป็นแหล่งสะสมของสารอัลฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นจากเชื้อราที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อนและมีความชื้น สารอัลฟลาทอกซินเป็นภัยใกล้ตัวที่พบได้ง่ายในอาหารแห้งที่เก็บรักษาไม่ดี ได้แก่ ถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม และเต้าเจี้ยว ซึ่งงความร้อนจากการต้มหรือทอดไม่สามารถ ทำลายสารนี้ได้ เมื่อรับประทานในปริมาณมากอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง หากรับประทานสารนี้เป็นระยะเวลานาน

- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง หากมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

- รับประทานโปรไบโอติก โปรไบโอติกมีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็งในลำไส้ได้ โดยอาศัยกลไกต่างๆ เช่น ช่วยกดการทำงานของสารก่อมะเร็ง ลดสารเมแทบอไลต์ (metabolite) ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น แอมโมเนียม อินโดล (อินโดล เป็นสารที่อาจได้จากการย่อยสลายของโปรตีนโดยแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย) สแกโทล (สารที่สร้างจากจุลินทรีย์ภายในลำไส้ใหญ่ ) และลดปริมาณเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง (procarcinogenic enzyme) ในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้แบคทีเรียที่ไม่ดีในลำไส้ใหญ่มีส่วนในการก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการสร้างสารก่อมะเร็ง หรือเป็นตัวร่วมในการก่อมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทไขมัน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงเป็นจำนวนมาก และไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้ ใยอาหาร ทำให้เพิ่มสารในกลุ่ม N. nitroso และ heterocyclic aromatic amines ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่
โปรไบโอติกจะช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ควบคุม และยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่สร้างสาร หรือเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็งได้ และมีผลต่อการเคลื่อนไหว หรือการบีบตัวของลำไส้ทำให้กำจัดสารก่อมะเร็งให้ออกจากร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น