เรื่องเล่าของสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆในลำไส้

” จุดกำเนิดของ “โปรไบโอติก ”
เมื่อพูดถึงโปรไบโอติก หลายๆคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูกับคำนี้มากสักเท่าไหร่
แต่ถ้าพูดถึงจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส หลายๆคนก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อ๋อ” เป็นจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในโยเกิร์ตและนมเปรี้ยว
ถูกต้องแล้วครับ เพราะจุลินทรีย์พวกนี้พบได้ในโยเกิร์ต นมเปรี้ยว และอาหารหมักดอง
แล้วโปรไบโอติก เกี่ยวข้องอะไรกับจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส?
โปรไบโอติกเป็นเหมือนคำพูดโดยรวมของจุลินทรีย์ที่ดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเจ้าตัวจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสเนี่ยก็เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าโปรไบโอติก มีด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ และไม่ได้มีพียงแลคโตบาซิลลัสเท่านั้น แต่ยังมีจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆอีกมากที่จัดได้ว่าเป็นโปรไบโอติก

คำว่า “โปรไบโอติก” (Probiotics) เป็นการรวมกันของคำว่า “โปร” (pro) และ “ไบโอทอส” (biotos) ที่มาจากภาษากรีก ซึ่งให้ความหมายว่า การส่งเสริมชีวิต
ภายในระบบทางเดินอาหารของเรามีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งจุลินทรีย์ที่ดีและจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค
ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์เกิดแนวความคิดที่จะนำจุลินทรีย์ที่ดีเข้าไปทดแทนหรือกำจัดจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย แนวความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียง 10 ปี 20 ปี แต่เกิดขึ้นมาแล้วนับเป็นร้อยๆปี
แล้ววิวัฒนาการหรือการศึกษาวิจัยต่างๆที่เกี่ยวกับโปรไบโอติกเริ่มมาจากไหน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันนี้พวกเราชาวลิซ ฟลอร่า จะมาเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1885 กุมารแพทย์ชาวเยอรมัน นามว่า ทีโอดอร์ เอสเชอริช (Theodor Escherich) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแบคทีเรียในอุจจาระและระบบทางเดินอาหารของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจถึงสรีระ พยาธิสภาพ และการบำบัดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

ปี ค.ศ. 1900 Henry Tissier กุมารแพทย์ชาวฝรั่งเศส สามารถแยกแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบพิดัม (Bifidobacterium bifidum) ได้เป็นคนแรก โดยแยกแบคทีเรียชนิดนี้มาจากทารกที่ดื่มนมมารดา ซึ่งก็พบว่าแบคทีเรียในกลุ่มไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) มีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อทารก เนื่องจากช่วยป้องกันภาวะท้องเสียในทารกได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ
ในปีเดียวกันนั้น Moro ได้แยกแบคทีเรียแลคบาซิลลัส อะซิโดฟิลัส (Lactobacillus acidophilus) จากบริเวณช่องปากและระบบทางเดินอาหารของทารกที่ดื่มนมมารดา ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้มีความสามารถในการทนต่อกรดได้สูง
ต่อมาในปี ค.ศ. 1908 Elie Metchnikoff นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ได้เกิดความสงสัยว่าทำไมชาวบัลแกเรียถึงมีอายุยืนยาวนับเป็นร้อยๆปี ทั้งที่เป็นประเทศด้อยพัฒนาและไม่ได้มีความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าการที่ประชากรประเทศบัลแกเรียรับประทานนมหมัก หรือโยเกิร์ตในปริมาณสูงเป็นประจำ น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบัลแกเรียมีอายุยืนมากกว่า 100 ปี จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวทำให้ Metchnikoff ได้แยกแบคทีเรียจากผลิตภัณฑ์นมหมัก และก็พบแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactobacillus bulgaricus) ซึ่งในปัจจุบันก็คือ แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส เดลบรูคคิไอ ชับสปีชี่ส์ บัลการิคัส (Lactobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus) นั่นเอง
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1920 Rettger และ Cheplin จากมหาวิทยาลัยเยล ได้รายงานว่ามนุษย์และหนูทดลองที่ได้รับประทานนม หรือน้ำตาลแลคโตส มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ประจำถิ่นภายในลำไส้ โดยจะช่วยส่งเสริมให้การอยู่อาศัยของแบคทีเรียกลุ่มอะซิโดฟิลลัส (acidophilus) และไบฟิดัส (bifidus) อาศัยอยู่ในลำไส้ได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ จากการรายงานในครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่ทำการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมหมักหันมาให้ความสนใ0แบคทีเรียแลคบาซิลลัส อะซิโดฟิลัส (Lactobacillus acidophilus) กันมากยิ่งขึ้น

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1930 มิโนรุ ชิโรตะ (Minoru Shirota) ชาวญี่ปุ่นที่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญในเรื่องการแพทย์ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและป้องกันจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารเป็นอย่างยิ่ง ชิโรตะสามารถคัดแยกและเพาะเลี้ยงแบคทีเรียแลกโตบาซิลลัสที่มีความทนต่อกรดและเกลือน้ำดีได้ แบคทีเรียดังกล่าวจึงสามารถอยู่รอดได้เมื่อผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของเรา ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้ก็คือ แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธุ์ ชิโรตะ หรือพูดให้เห็นภาพมากขึ้น ก็คือ ผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวที่เรารู้จักกัน ในชื่อ “ยาคูลล์” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ท่านชิโรตะท่านนี้ได้คิดค้นขึ้นมา และมีจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธุ์ ชิโรตะ เป็นส่วนประกอบอยู่ในยาคูลล์นั่นเอง

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1930 จนถึงปลาย ค.ศ. 1945 โลกต้องเผชิญกับภาวะสงครามโลกอีกครั้ง สงครามที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายมากมายในแต่ละประเทศ รวมไปถึงการศึกษาและการวิจัยต่างๆ ก็ต้องหยุดชะงักไปด้วยเช่นเดียวกัน
จนถึงช่วงต้นปี ค.ศ. 1960 จึงได้เริ่มมีการศึกษาถึงประโยชน์ของจุลินทรีย์กันอย่างจริงจังอีกครั้ง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาที่เกี่ยวกับประโยชน์ของจุลินทรีย์ และโปรไบโอติก คำนิยามของโปรไบโอติกในความหมายต่างๆ ก็ได้เริ่มเกิดขึ้นมาในช่วงนี้เหมือนกัน

ในปี ค.ศ. 1965 คำว่า “โปรไบโอติก” ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย Lilley และ Stillwell ซึ่งแนวคิดที่เกี่ยวกับประโยชน์ของจุลินทรีย์ก่อนที่จะมาเป็นโปรไบโอติกนั้น เริ่มต้นมาจากแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ที่ชื่อ Elie Metchnikoff
และในปี ค.ศ. 2008 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย ได้ให้นิยามของโปรไบโอติก ไว้ว่า โปรไบโอติก เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ด้านสุขภาพ
จากที่ได้เล่ามาจะเห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่เราเรียกว่าโปรไบโอติกนั้น ได้รับความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะยืนยันได้แล้วว่า โปรไบโอติกมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าจุดเริ่มต้น คือ เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆเหล่านี้มากแค่ไหน ทำไมท่านทั้งหลายที่ทำการศึกษาเหล่านี้มองเห็นถึงความสำคัญของเจ้าโปรไบโอติก ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มหันมาดูแลสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆอย่างจริงจังกันสักที

 

อ้างอิง
สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. โพรไบโอติก จุลินทรีย์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ

Copyright © 2024 Lish Thailand Official