เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ในขณะที่บางคนแทบจะไม่ได้กินอะไรเยอะเลย แต่กลับอ้วนเอาๆ คำตอบอาจอยู่ที่จุลินทรีย์ในลำไส้เรานี่เอง!
จุลินทรีย์ดี หรือ โพรไบโอติก กำลังเป็นที่สนใจในวงการสุขภาพและการลดน้ำหนักอย่างมาก เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าโพรไบโอติกลดไขมันในร่างกายได้ แต่มันทำงานอย่างไร และปลอดภัยแค่ไหน? บทความนี้มีคำตอบ
โพรไบโอติกเกี่ยวข้องอย่างไรกับไขมันในร่างกาย
โดยปกติแล้วคนเราล้วนมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ในร่างกาย ทั้งจุลินทรีย์ดีและจุลินทรีย์ไม่ดี แต่หากพูดถึงจุลินทรีย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับไขมันหรือน้ำหนักตัว จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- Firmicutes แบคทีเรียที่ทำให้อ้วน
ในลำไส้ของคนอ้วน มีแนวโน้มของแบคทีเรียกลุ่ม Firmicutes อยู่เป็นจำนวนมาก หรือมีแบคทีเรียตัวอ้วนอยู่เยอะนั่นเอง แบคทีเรียกลุ่มนี้ มีผลทำให้ร่างกายเราสูญเสียการควบคุมความรู้สึกอิ่ม ลดการใช้พลังงานจากสารอาหาร กระตุ้นให้มีการสร้างและเก็บไขมันมากขึ้น
- Bacteroidetes แบคทีเรียที่ทำให้ผอม
ในขณะที่คนผอม จะมีแบคทีเรียกลุ่ม Bacteroidetes อยู่เป็นจำนวนมาก นั่นคือมีแบคทีเรียตัวผอมอยู่เยอะนั่นเอง เจ้าแบคทีเรียกลุ่มนี้ จะช่วยให้ขบวนการเผาพลาญพลังงานในร่างกายดีขึ้น ลดการดูดซึมไขมัน และลดการอักเสบในร่างกายได้
กลไกการทำงานของโพรไบโอติกลดไขมัน
- กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน GLP-1 : ฮอร์โมน GLP-1 เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความอิ่ม ช่วยในการลดความอยากอาหาร และกระตุ้นให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานและไขมันเพิ่มมากขึ้น
- กระตุ้นการหลั่งโปรตีน Angiopoietin-Like 4 (ANGPTL4) : โปรตีนชนิดนี้มีส่วนช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกาย ซึ่งโพรไบโอติกจะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งโปรตีน ANGPTL4 เพิ่มมากขึ้น
- ช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย : การเกิดภาวะการอักเสบภายในร่างกายมีผลเชื่อมโยงไปสู่การเกิดโรคอ้วน ซึงโพรไบโอติกมีส่วนช่วยในการลดการอักเสบเหล่านั้นได้
- เพิ่มการผลิตกรดไขมันสายสั้น (SCFAs) : กรดไขมันสายสั้นที่ถูกผลิตขึ้นมาจากโพรไบโอติกอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนและต้านการอักเสบได้อีกด้วย
ตัวอย่างงานวิจัยของโพรไบโอติกลดไขมัน
มีงานวิจัยหลายฉบับที่เผยแพร่ออกมาเกี่ยวกับโพรไบโอติกในการลดไขมัน
การศึกษาในปี 2013 ทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการวิจัยผลของ Lactobacillus gasseri ในโยเกิร์ตต่อไขมันในช่องท้องของผู้ใหญ่ โดยทำการทดลองกับอาสาสมัครสุขภาพดี 210 คน ที่มีไขมันช่องท้องมาก (80.2 – 187.8 cm2) อายุ 35 – 60 ปี แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรกจะได้รับโยเกิร์ต ที่มีจุลินทรีย์ L.gasseri 107 CFU/g
กลุ่มที่สองจะได้รับโยเกิร์ต ที่มีจุลินทรีย์ L.gasseri 106 CFU/g
กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มควบคุม จะได้รับโยเกิร์ตที่ไม่มีจุลินทรีย์ L.gasseri
อาสาสมัครทั้งสามกลุ่มจะต้องทานโยเกิร์ต 2 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 100 g. เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์
จากการทดลองก็พบว่า ผู้ที่ได้รับโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์ L.gasseri ทั้ง 107 CFU/g และ 106 CFU/g มีระดับไขมันในช่องท้อง ดัชนีมวลกาย(BMI) เส้นรอบเอว เส้นรอบสะโพก เปอร์เซ็นไขมัน และระดับของมวลไขมันในร่างกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับโยเกิร์ตโดยไม่มีจุลินทรีย์ L.gasseri
การศึกษาในปี 2023 Piyarat Oraphruek และทีมวิจัยจากจุฬาฯ ได้ทำการศึกษาผลของซินไบโอติกที่มีต่อสัดส่วนร่างกายในอาสาสมัครที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์และเป็นโรคอ้วน จำนวน 63 คน โดยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก จะได้รับยาหลอก
กลุ่มที่สอง จะได้รับซินไบโอติก (Lish Flora)
อาสาสมัครจะได้รับผงแบบกรอกปากวันละ 1 ซอง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์
จากการทดลองก็พบว่า ในสัปดาห์ที่ 6 กลุ่มอาสาสมัครอ้วนที่ได้รับซินไบโอติกมีเส้นรอบเอวและเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการทดลอง และในสัปดาห์ที่ 12 สัดส่วน Firmicutes/Bacteroidetes (F/B ratio) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
ผลข้างเคียงของการกินโพรไบโอติกลดไขมัน
การกินโพรไบโอติกเป็นประจำต่อเนื่องทุกวัน ยังไม่พบความผิดปกติที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
แต่อาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการกินโพรไบโอติกที่มากเกินไป จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด หรือในกรณีที่ร้ายแรง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำได้
ถึงแม้ว่าโพรไบโอติกจะมีส่วนช่วยลดไขมันในร่างกายได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับอีกหลายๆปัจจัย ทั้งสายพันธุ์โพรไบโอติก ปริมาณที่กิน สภาวะร่างกายของแต่ละบุคคุล รวมไปถึงการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายด้วย