ท้องผูก ถือเป็นปัญหาระดับชาติเลยก็ว่าได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คนที่มีอาการท้องผูกส่วนใหญ่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองแล้ว ทั้งกินผักเยอะขึ้น ดื่มน้ำมากขึ้น ออกกำลังกายบ่อยขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นเลย ซึ่งสิ่งที่ทำให้ใครหลายๆคนไม่หลุดพ้นจากอาการท้องผูกสักที อาจเป็นเพราะ ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่ลำไส้
ในระบบทางเดินอาหารของเราเป็นบริเวณที่มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และอีกกลุ่มคือ จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค
ในสภาวะที่ร่างกายเป็นปกติ จุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะรักษาสมดุลซึ่งกันและกัน โดยควบคุมปริมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยจะมีปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ประมาณ 85% และมีจุลินทรีย์ก่อโรคประมาณ 15%
หากร่างกายเรามีปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ลดลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย เช่น อาการท้องผูก
การเติมจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ หรือ โปรไบโอติก ให้กับร่างกาย จะช่วยในการปรับสมดุลจุลินทรีย์ ลดอาการท้องผูก ช่วยในการบีบตัวและการเคลื่อนไหวของลำไส้ เร่งระยะเวลาในการขับของเสีย และลดปัญหาในระบบทางเดินอาหารได้
โปรไบโอติกช่วยลดอาการท้องผูกได้อย่างไร?
• ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้
• ส่งเสริมการทำงานของผนังและการเคลื่อนไหวของลำไส้
• เพิ่มความถี่ในการถ่ายอุจจาระ
• ผลิต SCFAs (กรดไขมันสายสั้น) โปรไบโอติกจะผลิต SCFAs โดยการหมักคาร์โบไฮเดรตในลำไส้ SCFAs จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ โดยการกระตุ้นผนังลำไส้ ทำให้เกิดการบีบตัวได้ดีขึ้น
• ช่วยในการลดค่า pH ในลำไส้ใหญ่ เนื่องจากการผลิตกรดแลคติก และ SCFAs เพิ่มขึ้น ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นของลำไส้เล็กส่วนต้น จะช่วยกระตุ้นการบีบตัว และลดระยะเวลาในการเคลื่อนผ่านของลำไส้ใหญ่
• ช่วยในการเผาผลาญเกลือน้ำดี ระดับเกลือน้ำดีที่แยกตัวออกมาเพิ่มขึ้น สามารถกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ได้
สายพันธุ์โปรไบโอติกที่มีส่วนช่วยในอาการท้องผูก
• Bifidobacterium lactis เป็นสายพันธุ์โปรไบโอติกที่มีงานวิจัยอย่างกว้างขวาง ที่แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก งานวิจัยของ Eskesen ในปี 2015 ได้ทำการศึกษาผลของ Bifidobacterium lactis ในคนที่มีความถี่ในการขับถ่ายต่ำกว่า 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ มากกว่า 1000 คน โดยการแบ่งกลุ่ม ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับ B. lactis 1 billion CFU, กลุ่มที่ได้รับ B. lactis 10 billion CFU และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผลปรากฏว่า ในกลุ่มที่ได้รับ B. lactis มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
• Lactobacillus rhamnosus เป็นสายพันธุ์โปรไบโอติกที่เป็นที่รู้จัก และมีงานวิจัยมากมายที่บอกถึงประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆด้าน หนึ่งในนั้น คือ การลดอาการท้องผูก L. rhamnosus จะช่วยเพิ่มความถี่การขับถ่ายของอุจจาระในผู้ที่มีอาการท้องผูกได้ และหากใช้ควบคู่กับพรีไบโอติกจะช่วยส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับใครที่ท้องผูกแล้วปรับพฤติกรรมมาหมดทุกวิธีแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นสักที ลองหันมาดูแลสมดุลจุลินทรีย์ที่ลำไส้ดู อาจจะเป็นวิธีที่ช่วยให้หลุดพ้นจากอาการท้องผูกก็เป็นได้
อ้างอิง
E. Dimidi, et al. Probiotics and constipation: mechanisms of action, evidence for effectiveness and utilisation by patients and healthcare professionals. Proceedings of the Nutrition Society. 2020, 79, 147–157
M. Kechagia. Health Benefits of Probiotics: A Review. ISRN Nutrition. 2013