กองทัพโพรไบโอติกส์จัดการเชื้อก่อโรคได้อย่างไรนะ ?
โปรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ เชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เป็นจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยในการทำงานของระบบการขับถ่าย นอกจจากนี้ยังช่วยในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่เดิมในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์ที่ดีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และแบคทีเรียที่ไม่ดีหรือเชื้อก่อโรคมีจำนวนลดน้อยลง
กลไกที่โปรไบโอติกส์ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตและลดจำนวนของเชื้อก่อโรค มีดังนี้
1. สร้างสารยับยั้งเชื้อ โปรไบโอติกส์อย่าง Lactobacillus spp. มีการสร้างสาร bacteriocin และ reuterin มายับยั้งเชื้อแบคทีเรียจำพวก Salmonella และ Shigella
2. ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม Lactobacillus spp. และ Bifidobacterium spp. ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อก่อโรค ด้วยการสร้างกรดไขมันสายสั้น ซึ่งกรดนี้ทำให้ความเป็น กรด-ด่าง ลดลง ทำให้สามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคอย่าง Escherichia coli และ Salmonella ได้
3. แย่งอาหาร โปรไบโอติกส์เข้าไปแย่งอาหารหรือสารตั้งต้นของอาหาร อย่างเช่น Monomeric glucose ทำให้เชื้อก่อโรคอย่าง Clostridium difficile มีจำนวนลดลง
4. รบกวนการเกาะติดผนังลำไส้ของเชื้อก่อโรค โปรไบโอติกส์จะรบกวนการเกาะติดผนังลำไส้ของเชื้อก่อโรค โดยการสร้างเอนไซม์ Protease เอนไซม์นี้จะเข้าไปทำลายสารพิษที่อยู่บริเวณเซลล์ลำไส้ ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อก่อโรคอย่าง Clostridium difficile และ enterotoxigenic Escherichia coli
5. กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน โปรไบโอติกส์อย่าง Lactobacillus spp. และ Bifidobacterium spp. กระตุ้นระบบภูมิคุ้มให้มีการหลั่ง Immunoglobulin (IgA) ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อบุของระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ
อ้างอิง
McFarland LV. Normal flora: diversity and functions. Microbial Ecology in Health and Disease;2000b ;12:193-207.
Ohland CL, MacNaughton WK. Probiotic bacteria and intestinal epithelial barrier function . Am J Physiol Gastrointest Liver Physiol. 2010; 298:G807-G819.